วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

ความทันสมัย ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลง

เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความจริงกันว่า คนเราทุกคนอยาก “ทันสมัย”


และชาติไทย คนไทยอย่างเรา ก็เป็นคนที่รักความทันสมัย ไม่น้อยหน้าชาติอื่นๆ


แต่ความทันสมัย ... ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ... และการยึดติดอยู่กับความทันสมัย ก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นจริง


***


ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สอนเราได้ดี ถึงความทันสมัย ที่มีมากมายในสังคมของเรา


แต่เป็นความทันสมัย ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงถึงแก่นแท้ ของความเป็นคนไทย


แท้ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ไทย ไม่ได้ถูกจดบันทึกกันอย่างเป็นเรื่องราวสักเท่าไหร่ ที่พอจะจดบันทึกได้ ก็เป็นการจดบันทึกบนพื้นฐาน “ฟัง” จากการบอกเล่ามาอีกต่อหนึ่ง


และถ้านับหลักฐานที่พอจะน่าเชื่อถือที่สุด ก็ไม่ไกลเกินสมัยกรุงศรีอยุธยา


แต่เมื่อวันหนึ่ง ชาติตะวันตก ... ผู้พกพาลัทธิชาตินิยม ... เข้ามาระราน และรุกรานหลายๆ ประเทศทางเอเชีย และกำลังจะคืบคลานเข้ามาสู่ประเทศไทย


เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่สยามประเทศ ณ เวลานั้น ต้อง “ปรับตัว” ให้ทันสมัย เพื่อหลีกเลี่ยงข้อหาของการเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน” ที่ชาติตะวันตก มักใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครองประเทศ


ความทันสมัยอย่างแรก ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ก็คือ “การมีประวัติศาสตร์ชาติ” ที่ทำให้ชาติตะวันตกยอมรับได้ว่า ชาติไทยก็เป็น “อารยชน” ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน ไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนมาจากไหน


และแล้ว ... ประวัติศาสตร์ชาติก็เกิดขึ้น ... ด้วยศิลาจารึก หลักที่ 2 ซึ่งกล่าวอ้างถึงพ่อขุนรามคำแหง และความเจริญรุ่งเรืองของสุโขทัย


เป็นความทันสมัย ... ที่ต้องทำเพราะความจำเป็น เพื่อให้ชาติตะวันตก ยอมรับว่า สยามประเทศนั้น “ศิวิไลซ์”


และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่ประวัติศาตร์ชาติไทย ถูกกำหนดอย่างชัดเจนว่า คนไทย อพยพมาจากเทือกเขาอัลไต มีบรรพบุรุษร่วมกับชาวจีน มีความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องสืบมา


ทั้งหมดทั้งสิ้น คือการสร้างความภาคภูมิใจในความทันสมัย ซึ่งข้อเท็จจริง แตกต่างอย่างสิ้นเชิง


แต่เมื่อความทันสมัย เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเสียแล้ว ... ค่านิยมที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในสังคมไทย นั่นคือ “เราต้องก้าวตามสมัยให้ทัน”


***


รัฐนิยม เป็นกุศโลบาย ที่จอมพลป. พิบูลสงคราม ใช้เพื่อ “เปลี่ยมโฉม” ประเทศ ให้ทันสมัยขึ้น


ทั้งเรื่องการแต่งตัว (ใส่หมวก ใส่เสื้อเชิร์ต ห้ามนุ่งโจงกระเบน)


อาหารการกิน (ห้ามกินหมาก ใช้ช้อนส้อมในการกิน)


การบันเทิง (จำกัดการเล่นดนตรีไทย ให้หัดเต้นรำตามอย่างสากล)


นี่ก็คือความทันสมัย ... ซึ่งก็เป็นแม่แบบของคนไทยในยุคปัจจุบัน ที่จะหาคนที่นุ่งโจงกระเบนแบบแต่ก่อนได้ยากเต็มที หาคนกินหมากก็แทบไม่มีเหลือแล้ว และทุกๆ คนก็ใช้ช้อนส้อมกินอาหาร


การปฎิรูปการศึกษา สมัยรัชกาลที่ 5 (ค.ศ. 1868-1910) เป็นอีกหนึ่งความพยายาม ที่จะนำประเทศเข้าสู่ความทันสมัย ตามรูปแบบของชาติตะวันตก


“การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อคนที่ได้รับการศึกษาในรูปแบใหม่ กลับมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในเวลาต่อมา


รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)


***


แต่แล้วเมื่อหันมามองดูสังคมไทยในปัจจุบัน ที่เป็นผลลัพธ์จากความทันสมัย ที่วางรากฐานกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีคำถามที่น่าถามตัวเราเองจริงๆ ว่า แท้ที่จริง เราเปลี่ยนแปลง หรือเราแค่ทันสมัย


ประชาธิปไตยที่เราภูมิใจ ... สุดท้ายแล้ว ก็ตกอยู่ในมือของผู้มีอิทธิพล ... และเราก็ยังเห็นอยู่เรื่อยๆ ว่าระบบอุปถัมภ์ ที่เป็นรากฐานแบบสังคมศักดินา ตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็ยังอยู่ในสังคมของเรา ตราบจนทุกวันนี้ ด้วยรูปโฉมที่เปลี่ยนไป แต่แก่นแท้ภายในยังเหมือนเดิม


เมื่อมองดูชาติตะวันตก พวกเขาก้าวออกมาจากสังคมศักดินาอย่างสมบูรณ์แบบ ... เมื่อชนชั้นศักดินาถึงคราวถูกสั่นคลอน ด้วยชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยสมครามครูเสด นั่นคือชนชั้นพ่อค้า


การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ด้วยความคิดที่เปลี่ยนไป และความคิดที่เปลี่ยนไป ก็นำมาซึ่งรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดรับกับความคิดที่เปลี่ยนไปนั้น


แต่สังคมไทย ... กลับเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง บนพื้นฐานของความทันสมัย


นั่นก็เท่ากับว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจริงๆ


ทำไม การศึกษาไทยถึงยังด้อยคุณภาพ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในแถบเอเชีย ที่เริ่มต้นปฎิรูปการศึกษา


ทำไม การรถไฟไทย ถึงยังช้าอืดอาดไม่ทันใจเหมือนหลายๆ ชาติในเอเชีย ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในแถบเอเชีย ที่เริ่มต้นระบบรถไฟ


ความทันสมัยซึ่งเกิดขึ้นมา ไม่ได้ให้ผลยั่งยืนถึงปัจจุบันเลยหรือ


หรือว่าปัญหา จะมาจากความคิดของเรา ... ที่ยังเหมือนเดิม?


***


สุดท้ายแล้ว เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยไม่เคยถูกสอนให้ค้นหาความเป็นตัวเอง


แต่มักจะถูกสอน ให้ทำตามที่สอนมา


“เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด”

“อย่านอกครู”


เป็นเรื่องตลก ที่เราค้นหาความเป็นตัวเองไม่เจอที่โรงเรียน แต่กลับเจอมันใน Facebook


และซ้ำร้าย กว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เกิดมาเพื่ออะไร อาจจะต้องใช้เวลาถึงอายุ 30 ปี ถึงจะได้รู้จริงๆ


ในสังคมที่ฉาบไปด้วยความทันสมัยอันมากมายเช่นในยุคปัจจุบัน เราเคยสำรวจกันจริงๆ หรือไม่ ว่ายังมีความคิดล้าหลังอะไรมากมาย เป็นอิทธิพลในการดำเนินชีวิตหรือไม่


เส้นสาย ... ยังสำคัญกว่าความสามารถ ... ใช่หรือไม่


อยากซื้อใจคน ... ก็ใช้เงินซื้อเสียง ... ออกนโยบายให้ดูหรูหรา ลดแลกแจกแถมกันไม่อั้น ใช่หรือไม่


ไม่พอใจ ... ก็นินทา ... ต่อหน้าพูดอย่าง ลับหลังพูดอีกอย่าง ใช่หรือไม่


นี่คือความคิดล้าหลัง ที่มันยังคงอยู่ ... ซึ่งก็เป็นแค่ตัวอย่าง ในจำนวนความคิดอีกมากมาย ที่ทำให้ประเทศไทย เป็นได้แค่ประเทศที่ทันสมัย แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง


เราอยากเป็นคนทันสมัย หรือเราอยากเปลี่ยนแปลง ... นี่คือคำถามที่เราต้องถามตัวเราเองอย่างจริงใจ


และมาร่วมหาคำตอบด้วยกันในครั้งต่อไป กับหัวข้อ


“การเปลี่ยนแปลง นำมาซึ่งความร่วมสมัย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น